ตลาดพริกผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในครัวเรือน

ข้าว พริก และเกลือ เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในอาหารไทย “พริก” ถูกจัดให้เป็นพืชวัฒนธรรมอีกชนิดของคนไทยที่มีการใช้ประโยชน์ทั้งในแง่ของการบริโภค ในรูปของเครื่องเทศสำหรับปรุงแต่ง รสชาติ กลิ่นและ สี ใช้เป็นพืชสมุนไพร และใช้ในพิธีกรรมต่างๆ นอกจากนี้ในปัจจุบันมีการสกัดสารเผ็ดที่เรียกว่า แคปไซซิน (capsaicin) ซึ่งมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา มาทำผลิตภัณฑ์ต่างๆเพื่อใช้ประโยชน์ด้านสุขภาพ เช่น กระตุ้นการทำงานของกระเพาะอาหาร กระตุ้นการไหลเวียนของโลหิต บำรุงหัวใจ บรรเทาอาการปวดเมื่อย ฉีดพ่นรักษาอาการโรคไซนัส รวมทั้งใช้เพื่อควบคุมน้ำหนัก นอกจากนี้ยังได้นำไปใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆ เช่นใช้แทนแก๊สน้ำตาเพื่อปราบจลาจลและใช้เคลือบสายไฟและสายไฟเบอร์ออปติกส์ต่างๆ เพื่อป้องกันการกัดแทะของสัตว์ เนื่องจากพริกเป็นพืชที่มีคุณค่าทางอาหารและยา มีสี รสชาติที่ไม่อาจใช้ผลผลิตจากพืชอื่น ๆ ทดแทนได้ จึงทำให้พริกเป็นพืชผักที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจชนิดหนึ่ง ในด้านการผลิตนั้นมีการเพาะปลูกมานานควบคู่กับชาติไทย เริ่มจากปลูกพริกในลักษณะสวนครัวหลังบ้านและต่อมาได้ปรับเปลี่ยนมาเป็นการปลูกพริกเพื่อการค้า เพื่อผลิตพริกสดและพริกแห้ง สำหรับใช้ในการบริโภคและส่งโรงงานอุตสาหกรรมอาหารเพื่อแปรรูปออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ รวมทั้งยังมีการผลิตเมล็ดพันธุ์พริกลูกผสมเพื่อการส่งออกด้วย

ตลาดพริกที่สำคัญในประเทศ แบ่งออกเป็นภูมิภาค โดยตลาดพริกที่สำคัญในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือ ตลาดพริกในจังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ และขอนแก่น ภาคเหนือ คือ ตลาดพริกในจังหวัดเพชรบูรณ์ กำแพงเพชร นครสวรรค์ สุโขทัย และพิจิตร ส่วนตลาดพริกที่สำคัญในภาคใต้ คือ ตลาดพริกที่จังหวัดสงขลา นครศรีธรรมราช และภูเก็ต ตลาดพริกสดและพริกแห้งที่ใหญ่ที่สุดคือ ตลาดสี่มุมเมืองรังสิต ตลาดไท และปากคลองตลาด โดยเป็นแหล่งใหญ่ที่รวบรวมพริกจากทุกภาคของประเทศและกระจายต่อไปทั่วทุกจังหวัด ตลอดจนส่งไปจำหน่ายยังต่างประเทศด้วย

ผลผลิตพริกสด ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะออกสู่ตลาด 2 ช่วง ระหว่างเดือนมีนาคม – สิงหาคม และเดือนตุลาคม – ธันวาคม ส่วนในภาคเหนือผลผลิตจะออกสู่ตลาดในช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม สำหรับพริกแห้งผลผลิตจะกระจายออกสู่ตลาดตลอดทั้งปีเพราะสามารถเก็บรักษาได้ ราคาพริกแห้งจะมีเสถียรภาพมากกว่าราคาพริกสดค่อนข้างมาก

จากการศึกษาพบว่าปัญหาสำคัญของการผลิตพริก คือเรื่องของโรคและแมลง เมื่อเกิดการระบาดของโรคหรือแมลงขึ้นก็จะทำให้เกิดความเสียหายในการผลิตเป็นอย่างมาก สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการระบาดของโรคและแมลงคือ ระบบการปลูกยังไม่ได้มาตรฐาน เป็นการปลูกที่พึ่งพาธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ จึงทำให้ไม่สามารถควบคุมปัจจัยต่างๆ ที่จะส่งผลต่อการผลิตได้ อีกทั้งเกษตรกรผู้ผลิตยังมีอายุมาก อาศัยประสบการณ์การผลิตพริกที่ทำกันมาแต่ดั้งเดิม จึงทำให้ระบบการปลูกไม่แตกต่างจากอดีตมากนัก เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจึงควรให้ความรู้ในเรื่องระบบการผลิตที่ได้มาตรฐาน โดยอาจจัดทำในลักษณะของการรวมกลุ่มผลิต และมีผู้เชี่ยวชาญมาตรฐานสินค้าให้คำแนะนำและรับรองมาตรฐาน ปัญหาที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ เรื่องเมล็ดพันธุ์ เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่เก็บเมล็ดไว้ใช้เอง แต่ขาดความรู้เรื่องการคัดพันธุ์ จึงทำให้พันธุ์เสื่อมคุณภาพลงไปเรื่อยๆ ถึงแม้ว่าจะมีบริษัทเอกชนผลิตเมล็ดพันธุ์พริกเพื่อจำหน่ายให้กับเกษตรกรแล้วก็ตามแต่เมล็ดพันธุ์พริกที่เป็นที่ต้องการของเกษตรกรจำนวนมาก คือ พริกพันธุ์ยอดสนยังไม่มีการผลิต จึงควรต้องพัฒนาเพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ดังกล่าวเพื่อสนองความต้องการของเกษตรกร

This entry was posted in สินค้าและบริการ and tagged . Bookmark the permalink.

Comments are closed.